ศูนย์บริบาลช้าง ‘บ้านปางหละ’ จากศูนย์ฝึกลูกช้างแห่งแรกสู่สถานที่พักพิงหลังสุดท้ายของช้างไทย ...
หากย้อนเวลากลับไปในปี พ.ศ. 2512 ศูนย์บริบาลช้าง ‘บ้านปางหละ’ อำเภองาว จังหวัดลำปาง ซึ่งอยู่ในการดูแลของสถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ (ส.คช.) ถูกก่อตั้งขึ้นโดย ศ.ดร. อำนวย คอวนิช ผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ในสมัยนั้น เพื่อให้เป็นสถานที่ฝึกสอนลูกช้าง โดยมีหน้าที่ในการฝึกสอนให้ช้างอยู่ในระเบียบ สามารถฟังคำสั่ง และแยกช้างแม่กับลูกออกจากกัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายกับลูกช้าง นับได้ว่าสถานที่แห่งนี้เป็นศูนย์ฝึกลูกช้างแห่งแรกและแห่งเดียวในโลก
ต่อมาในปี 2532 รัฐบาลไทยได้ประกาศปิดป่าสัมปทานทำให้ช้างลากไม้ได้ถูกลดบทบาทลงจึงทำให้ศูนย์ฝึกลูกช้างบ้านปางหละ ถูกปรับเปลี่ยนให้ทำหน้าที่ในการเป็นศูนย์บริบาล
เพื่อเป็นสถานที่พักฟื้น รักษาพยาบาลช้างป่วย ช้างชรา และช้างพิการ จวบจนปัจจุบัน
นอกจากนี้ ศูนย์บริบาลช้าง ‘บ้านปางหละ’ ยังเป็นพื้นที่ที่ทำการรักษา ดูแล ‘ช้างของกลาง’
จนกว่าคดีจะสิ้นสุด ทำให้ช้างบางเชือกต้องอยู่ในความดูแลของศูนย์บริบาลช้าง
‘บ้านปางหละ’ จนสิ้นอายุขัย
ปัจจุบันศูนย์บริบาลช้าง ‘บ้านปางหละ’ ได้จำแนกช้างที่อยู่ในศูนย์ออกเป็น 4
กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มช้างชรา หรือช้างที่ถูกปลดเกษียณจากวัยทำงาน 2) กลุ่มช้างของกลาง 3) กลุ่มช้างมีนิสัยดุร้าย
หรือช้างที่เคยทำร้ายคนมาก่อน และ 4) กลุ่มช้างบริจาค โดยวิธีการดูแลช้างในแต่ละกลุ่มจะต้องอาศัยความเข้าใจร่วมกับประสบการณ์ของสัตวแพทย์
ในการควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด ทั้งในเรื่องของอาหาร พื้นที่นอนหลับ
หรือกิจกรรมการออกกำลังกาย เพื่อให้ช้างทุกเชือกศูนย์บริบาลช้าง ‘บ้านปางหละ’ ได้รับความสบายและมีความสุขอย่างดีที่สุด
ประกอบกับศูนย์บริบาลช้าง ‘บ้านปางหละ’ ได้จัดทำ “ปางหละเวชภัณฑ์” ซึ่งเป็นยาสมุนไพรบำรุงสำหรับช้าง
โดยมีส่วนประกอบได้แก่ บอระเพ็ด, กล้วยแห้ง, ข้าวเปลือก, เกลือ เป็นต้น
เพื่อกระตุ้นให้ช้างมีพละกำลังมากขึ้น และกระตุ้นให้เกิดการอยากอาหาร นอกจากนี้ ศูนย์บริบาลช้าง
‘บ้านปางหละ’ ได้แจกจ่ายยาสมุนไพร
“ปางหละเวชภัณฑ์” ให้กับช้างชราทั่วทั้งประเทศ
เพื่อส่งต่อสุขภาพที่ดีให้กับช้างอีกด้วย
ถึงแม้ว่าศูนย์บริบาลช้าง ‘บ้านปางหละ’ จะเป็นสถานที่พักพิงหลังสุดท้ายของช้างไทย...
แต่ในเรื่องของการดูและบริบาลช้าง ที่นี่ยังให้ความสำคัญในลำดับแรกๆ เพื่อให้ช้างที่อยู่ในความดูแลมีความสุข
สุขภาพจิตดี จนถึงช่วงบั้นปลายของชีวิตช้าง...
สุดท้ายนี้ หากนักท่องเที่ยวที่สนใจอยากจะสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์บริบาลช้าง ‘บ้านปางหละ’ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook Fanpage: ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จ.ลำปาง The Thai Elephant Conservation Center Lampang หรือหมายเลขโทรศัพท์ 0 5482 9333
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น