ส.คช. เพิ่มมูลค่าส่งเสริมการผลิต “กระดาษมูลช้าง” นำกลับมาใช้ซ้ำเพื่อการส่งเสริมดำเนินงานอย่างยั่งยืน ...




 


ปัจจุบันเศรษฐกิจชีวภาพ หรือ
BCG Economy นับว่าเป็นสิ่งที่ทุกๆ องค์กรต่างให้ความสำคัญ เพราะนอกจาก BCG Economy จะเป็นการพัฒนาที่สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน อาทิ สามารถออกแบบผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตเพื่อให้เกิดของเสียน้อยที่สุด (Eco-design & Zero Waste), ส่งเสริมการใช้ซ้ำ (Reuse, Refurbish, Sharing) และให้ความสำคัญกับการจัดการของเสียจากการผลิตและบริโภค ด้วยการนำวัตถุดิบที่ผ่านการผลิตและบริโภคเข้าสู่กระบวนการเพื่อแปรสภาพและนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle, Upcycle) นอกจากนี้ ยังสอดคล้องกับหลักแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งเป็นหลักสำคัญในการพัฒนาของประเทศไทยอีกด้วย


องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) นับว่าเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ให้ความสำคัญในเรื่องของ BSG Economy และ SDGs โดยการส่งเสริมและพัฒนาในเรื่องของการปลูกสร้างสวนป่าเศรษฐกิจแล้ว นอกจากนี้ ในส่วนของการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์และบริบาลช้าง โดยสถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมถ์ฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การดูแลของ อ.อ.ป. ได้ให้ความสำคัญในเรื่องของ BSG Economy และ SDGs เช่นเดียวกัน


ซึ่ง สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ (ส.คช.) ได้ให้ความสำคัญในการจัดการ “มูลช้าง” ซึ่งเป็นของเสียที่เกิดขึ้นและมีจำนวนมากในแต่ละวัน โดย ส.คช. ได้นำมูลช้างกลับมาเข้าสู่กระบวนการเพื่อแปรสภาพและนำกลับมาใช้ใหม่ ทั้งในรูปแบบพลังงานทดแทนและผลิตภัณฑ์ได้แก่ กระดาษมูลช้าง, ปุ๋ยมูลช้าง และก๊าซชีวภาพจากมูลช้าง 



สำหรับบทความนี้จะนำเสนอถึงการผลิตกระดาษมูลช้าง ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์จากมูลช้างอีกรูปแบบหนึ่ง เพื่อนำมาเพิ่มมูลค่าให้กับมูลช้างและนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อสร้างมูลค่าให้กับมูลช้าง 


โดยขั้นตอนของการผลิตกระดาษมูลช้างมีกระบวนการดังนี้ เริ่มต้นจากการเก็บมูลช้างและนำมาละลายให้แตกตัว เพื่อตักแยกกากใยที่เป็นหญ้าออกมา และล้างทำความสะอาด เมื่อล้างทำความสะอาดเรียบร้อยแล้วจะนำเข้าสู่กระบวนการต้มเพื่อฆ่าเชื้อ โดยใช้ระยะเวลา 5 - 8 ชั่วโมง เพื่อให้มูลช้างมีความละเอียดมากขึ้นโดยใส่โพแทสเซียมเพื่อช่วยให้มูลช้างละลายและละเอียดมากขึ้น เมื่อครบกำหนดระยะเวลาแล้วจะนำมูลช้างที่ผ่านการต้มแล้วมาล้างด้วยน้ำสะอาด และต้มซ้ำอีกครั้งหนึ่ง 



หลังจากที่ได้มูลช้างที่สะอาดแล้ว จะถูกนำมาเข้าเครื่องปั่นและผสมเปลือกต้นสาเพื่อเพิ่มเยื่อกระดาษให้กับกระดาษมูลช้าง และสามารถผสมสีตามต้องการในขั้นตอนนี้ได้ โดยใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง 

เมื่อครบระยะเวลาแล้ว จะนำกระดาษมูลช้างแบ่งออกเป็นก้อนๆ น้ำหนักประมาณ 400 กรัม เพื่อให้กระดาษมีความหนาและไม่บางจนเกินไป ผสมกับสารยูรามีน และนำมาเกลี่ยให้ทั่วทั้งเฟรมกระดาษ แล้วจึงจะยกเฟรมพิมพ์กระดาษขึ้นและพักไว้ 



จากนั้นนำเฟรมกระดาษมูลช้างมาตากแดดประมาณ 1 วัน หรือจนกว่ากระดาษมูลช้างแห้งสนิท เมื่อกระดาษมูลช้างแห้งสนิทแล้วจะใช้อุปกรณ์กรีดรอบๆ กระดาษให้ชิดกับเฟรมและค่อยๆ แกะกระดาษออกจากเฟรม




สำหรับกระดาษมูลช้างของ ส.คช. จะถูกจัดจำหน่ายทั้งรูปแบบแผ่น หรือนำมาเพิ่มมูลค่าโดยการนำต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น สมุดโน๊ต, โคม, ตุง, การ์ด และที่ใส่ปากกา เป็นต้น


สุดท้ายนี้ หากใครสนใจที่อยากจะเข้าไปลองทำกระดาษมูลช้าง หรืออุดหนุนผลิตภัณฑ์จากมูลช้าง สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook Fanpage: ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จ.ลำปาง The Thai Elephant Conservation Center Lampang หรือหมายเลขโทรศัพท์ 0 5482 9333          


ความคิดเห็น